#Do the Right Thing
จรรยาบรรณวิชาชีพล่าม
คณะกรรมการทำงานเฉพาะกิจพัฒนามาตรฐานวิชาชีพล่าม ได้จัดทำ "จรรยาบรรณวิชาชีพล่าม" เมื่อเดือนกันยายน 2566 เพื่อกำหนดแนวทางการทำงานของล่ามอาชีพให้มีจริยธรรมและเพื่อยกระดับมาตรฐาน ผดุงเกียรติและศักดิ์ศรีของล่ามอาชีพ ขอรับจรรยาบรรณวิชาชีพฉบับพิมพ์ได้ฟรีที่สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย

หมวด 1 ความเป็นมืออาชีพ
1.1 ล่ามจะไม่รับปฏิบัติงานที่ตนไม่มีคุณสมบัติหรือสมรรถนะเพียงพอ หากล่ามทราบภายหลังจากรับมอบหมายงาน หรือไม่สามารถปฏิบัติงานเนื่องจากไม่มีคุณสมบัติหรือสมรรถนะเพียงพอ ล่ามจะต้องแจ้งให้ผู้ว่าจ้างทราบโดยทันที
1.2 การรับงานของล่ามถือเป็นการรับรองว่าล่ามจะปฏิบัติหน้าที่จนสุดความสามารถภายในขอบเขตการปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมาย
1.3 ล่ามจะไม่รับปฏิบัติงานใดๆ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อตัวล่าม บุคคลที่สาม หรือสาธารณะ หรือไม่อยู่ในกรอบศีลธรรมอันดีงามของสังคม
1.4 ล่ามปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมต่อ กาลเทศะ ตรงต่อเวลา แต่งกายเหมาะสม เตรียมพร้อมปฏิบัติหน้าที่
1.5 ล่ามจะแสดงตนว่าเป็นล่าม ระบุขอบเขตการปฏิบัติหน้าที่ให้ชัดเจนและไม่ทำเกินหน้าที่หรือออกนอกมณฑลของงาน
1.6 ล่ามพึงระวังไม่ให้การปฏิบัติหน้าที่ของตนรบกวนหรือขัดขวางการทำงานของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องฝ่ายอื่นๆ ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน
หมวด 2 ความโปร่งใส
2.1 ล่ามพึงให้ข้อมูลคุณวุฒิ ประวัติการทำงาน และสมรรถนะในการทำงานของตนที่เป็นจริง เป็นปัจจุบัน และซื่อสัตย์
2.2 ล่ามพึงตกลงเงื่อนไขการทำงาน ขอบเขตความรับผิดชอบ สภาพแวดล้อมการทำงาน อัตราค่าบริการ และระยะเวลาให้บริการกับลูกค้าให้ชัดเจนก่อนเริ่มงาน
2.3 กรณีที่เกิดเหตุผิดพลาดในการปฏิบัติหน้าที่โดยเป็นความผิดพลาดจากล่าม ล่ามต้องไม่ปิดบังความผิดพลาดดังกล่าว และพยายามแก้ไขให้ถูกต้องหากเป็นไปได้
2.4 เมื่อมีผู้ร้องขอ ล่ามต้องแสดงหลักฐานแสดงตัวตนและคุณวุฒิของตน


หมวด 3 ความถูกต้องและครบถ้วน
3.1 ล่ามปฏิบัติงานโดยถ่ายทอดความหมายอย่างถูกต้องตรงตามความหมาย เจตนา และสถานการณ์ในการปฏิบัติงาน โดยภาษาปลายทางพึงสอดคล้องกับบริบททางวัฒนธรรมและความละเอียดอ่อนทางสังคม
3.2 ล่ามต้องไม่สอดแ ทรกความคิดเห็นส่วนตัวในการถ่ายทอดสารจากภาษาต้นทางเป็นภาษาปลายทาง ตลอดจนไม่ตัดทอน ละเว้น หรือเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของสารโดยมีเจตนาบิดเบือน ลดทอน หรือดัดแปลงเนื้อหาดังกล่าว นอกเหนือไปจากการปรับเพื่อความเป็นธรรมชาติของภาษาและความเหมาะสมทางวัฒนธรรม
หมวด 4 ความเป็นอิสระ เป็นกลาง
และหลีกเลี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อน
4.1 ล่ามแสดงตัวเป็นกลางอย่างชัดเจน ระวังถ้อยคำ การแต่งกาย การแสดงออก
4.2 ล่ามไม่เลือกปฏิบัติเพื่อผลประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
4.3 ล่ามปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากอคติ
4.4 ล่ามไม่รับของกำนัลหรือสิ่งตอบแทนใดๆ จนเกินธรรมเนียมปฏิบัติของแต่ละวัฒนธรรม นอกเหนือไปจากค่าจ้าง รวมถึงเว้นจากการแสดงออกที่ทำให้ผู้พบเห็นเข้าใจว่าเป็นการรับอามิสสินจ้าง เช่น การรับกระเช้า หรือการรับประทานอาหารกับลูกค้าในห้องส่วนตัว
4.5 ล่ามพึงไม่แสดงความคิดเห็นส่วนตัว รวมถึงการแสดงออกทางศาสนา การเมือง ความเชื่อส่วนบุคคลซึ่งสร้างความขัดแย้ง


หมวด 5 การรักษาข้อมูลที่เป็นความลับ
5.1 ล่ามจะรักษาข้อมูลอันเป็นความลับหรือข้อมูลภายในที่ได้จาก
การปฏิบัติงานหรือเกิดขึ้นขณะปฏิบัติงาน ทั้งนี้ อาจรวมถึงข้อมูลผู้ว่าจ้าง บุคคลที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเนื้อหาของการประชุม โดยไม่เปิดเผยข้อมูลอันเป็นความลับดังกล่าวต่อสาธารณะ รวมถึงทางสื่อสังคมออนไลน์
5.2 ล่ามจะไม่เผยแพร่ข้อมูลงานหรือข้อมูลที่ระบุตัวตนผู้เข้าร่วมงาน
เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของงานหรือตัวบุคคลดังกล่าว เช่น
การถ่ายภาพตนเองกับป้ายงาน การเผยแพร่การปฏิบัติงานของตนผ่านสื่อต่างๆ หรือการระบุชื่อบุคคลผู้เข้าร่วมงาน ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม
5.3 ล่ามควรสอบถามลูกค้าว่า มีข้อตกลงว่าด้วยการไม่เปิดเผยข้อมูล
หรือการไม่รับงานจากคู่แข่งหรือไม่ หากมี ล่ามต้องรักษาสำเนาของสัญญาที่ทุกฝ่ายลงนามแล้วไว้หนึ่งฉบับ
5.4 ล่ามจะไม่แสวงหาประโยชน์ส่วนตัวจากข้อมูลอันเป็นความลับข้างต้นไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม
หมวด 6 การป ฏิบัติตัวต่อลูกค้า
และเพื่อนร่วมงาน
6.1 ล่ามจะให้เกียรติลูกค้า ผู้ใช้บริการล่าม และเพื่อนร่วมงานภายในขอบเขตการปฏิบัติวิชาชีพของตน
6.2 ล่ามจะเคารพวิชาชีพและเพื่อนร่วมวิชาชีพ รวมถึงไม่ปฏิบัติตนให้เกิดความเสื่อมเสียต่อวิชาชีพ
6.3 ล่ามพึงดำรงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือของวิชาชีพ
6.4 ล่ามพึงให้ความช่วยเหลือเพื่อนร่วมวิชาชีพ และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างสร้างสรรค์


หมวด 7 การเคารพความหลากหลาย
7.1 ล่ามมีหน้าที่แก้ไขปัญหาที่เกิดจากการสื่อสารระหว่างภาษา พื้นเพ และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน
7.2 ล่ามเคารพและเปิดรับความหลากหลาย ทั้งในเชิงเพศสภาพ กายภาพ วัยวุฒิ ภาษา วัฒนธรรม การศึกษา พื้นเพ ความคิดเห็นทางการเมือง และกลุ่มความเชื่อต่างๆ
7.3 ล่ามต้องไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคลเนื่องมาจากเพศสภาพ กายภาพ วัยวุฒิ ภาษา วัฒนธรรม การศึกษา พื้นเพ ความคิดเห็นทางการเมือง และกลุ่มความเชื่อต่างๆ และไม่แสดงอาการรังเกียจ ดูหมิ่น และขาดความละเอียดอ่อน
หมวด 8 การพ ัฒนาตัวเอง
8.1 ล่ามพึงพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ด้วยการแสวงหาความรู้และพัฒนาทักษะที่สอดคล้องกับยุคสมัย
8.2 ล่ามควรติดตามข่าวสารและเหตุการณ์สำคัญในโลกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์ในการทำงานและการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
8.3 ล่ามควรแสวงหาโอกาสเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะใหม่และฟื้นฟูรักษาทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานอยู่เสมอ
8.4 ล่ามรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้ใช้บริการและเพื่อนร่วมงานเพื่อนำมาพัฒนาตนเองต่อไป
